<< Go Back
ดนตรีสมัยรีเนซองส์ (THE RENAISSANCE PERIOD 1450-1600)

                คำว่า “Renaissance” แปลว่า “การเกิดใหม่ ” (Re-birth)  ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่ปัญญาชน ในยุโรปได้ หันความสนใจจาก กิจการฝ่ายศาสนาที่ได้ปฏิบัติ มาอย่างเคร่งครัดตลอดสมัยกลาง มาสู่การฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งมีแนวความคิดอ่านและวัฒนธรรมตามแบบกรีก และโรมันโบราณ สมัยแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยานี้ ได้เริ่มขึ้นครั้งแรกตามหัวเมืองภาคเหนือของแหลมอิตาลี โดยได้เริ่มขึ้นที่เมืองฟลอเรนซ์ ก่อนแล้วจึงแพร่ไปยังเวนิช ปิสา เจนัว จนทั่วแคว้นทัสคานีและลอมบาร์ดี จากนั้นจึงแพร่ไปทั่วแหลมอิตาลีแล้วขยายตัวเข้าไปในฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ 

                ลักษณะของดนตรีในสมัยนี้ยังคงมีรูปแบบคล้ายในสมัยศิลป์ใหม่ แต่ได้มีการปรับปรุงพัฒนารูปแบบมากขึ้น ลักษณะการสอดประสานทำนอง ยังคงเป็นลักษณะเด่น เพลงร้องยังคงนิยมกันแต่เพลงบรรเลงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ในช่วงศตวรรษที่ 15 และ 16 รูปแบบของดนตรีมีความแตกต่างกันดังนี้ (ไขแสง ศุขะวัฒนะ,2535:89)

1. สมัยศตวรรษที่ 15

                ประชาชนทั่วไปได้หลุดพ้นจากการปกครองระบอบศักดินา (Feudalism) มนุษยนิยม (Humanism) ได้กลายเป็นลัทธิสำคัญทางปรัชญา ศิลปินผู้มีชื่อเสียง คือ ลอเร็นโซ กิแบร์ตี โดนาเต็ลโล เลโอนาร์โด ดา วินชิ ฯลฯ เพลงมักจะมี 3 แนว โดยแนวบนสุดจะมีลักษณะน่าสนใจกว่าแนวอื่น ๆ เพลงที่ประกอบด้วยเสียง 4 แนว ในลักษณะของโซปราโน อัลโต เทเนอร์ เบส

                เริ่มนิยมประพันธ์กันซึ่งเป็นรากฐานของการประสานเสียง 4 แนว ในสมัยต่อ ๆ มา เพลงโบสถ์จำพวก แมสซึ่งพัฒนามาจากแชนท์มีการประพันธ์กันเช่นเดียวกับในสมัยกลาง เพลงโมเต็ตยังมีรูปแบบคล้าย สมัยศิลป์ใหม่ ในระยะนี้เพลงคฤหัสถ์เริ่มมีการสอด ประสานเกิดขึ้น คือ เพลงประเภทซังซอง แบบสอดประสาน (Polyphonic chanson) ซึ่งมีแนวทำนองเด่น 1 แนว และมีแนวอื่นสอดประสานแบบล้อกัน (Imitative style) ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลักษณะของการใส่เสียงประสาน (Homophony) 

               ลักษณะล้อกันแบบนี้เป็นลักษณะ สำคัญของเพลงในสมัยนี้ นอกจากนี้มีการนำรูปแบบของโมเต็ต มาประพันธ์เป็นเพลงแมส และการนำหลักของแคนนอนมาใช้ในเพลงแมสด้วย

2. สมัยศตวรรษที่ 16

               มนุษยนิยมยังคงเป็นลัทธิสำคัญทางปรัชญาการปฏิรูปทางศาสนา และการต่อต้านการปฏิรูปทางศาสนาของพวก คาทอลิกเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งของคริสต์ศาสนา เพลงร้องแบบสอดประสาน ทำนองพัฒนาจนมีความสมบูรณ์แบบเพลงร้อง ยังคงเป็นลักษณะเด่น แต่เพลงบรรเลงก็เริ่มนิยมกันมากขึ้น เพลงโบสถ์ยังมีอิทธิพลจากเพลงโบสถ์ของโรมัน แต่ก็มีเพลงโบสถ์ของนิกายโปรแตสแตนท์เกิดขึ้น การประสานเสียงเริ่มมีหลักเกณฑ์มากขึ้นการใช้การประสาน เสียงสลับกับการล้อกันของทำนองเป็นลักษณะหนึ่งของเพลงในสมัยนี้ การแต่งเพลงแมสและโมเต็ตนำหลักของการล้อกันของทำนองมาใช้แต่เป็นแบบฟิวก์ (Fugue) ซึ่งพัฒนามาจากแคนนอน คือ การล้อของทำนองที่มีการแบ่งเป็นส่วน ๆ ที่สลับซับซ้อน มีหลักเกณฑ์มากขึ้นในสมัยนี้มีการปฏิวัติทางดนตรีเกิดขึ้นในเยอรมัน ซึ่งเป็นเรื่องของความขัดแย้ง

                ทางศาสนากับพวกโรมันแคธอลิก จึงมีการแต่งเพลงขึ้นมาใหม่โดยใช้กฏเกณฑ์ ใหม่ด้วยเพลงที่เกิดขึ้นมาใหม่เป็นเพลงสวดที่เรียกว่า “โคราล” (Chorale) ซึ่งเป็นเพลงที่นำมาจากแชนท์แต่ใส่อัตราจังหวะเข้าไป นอกจากนี้ยังเป็นเพลงที่นำมาจากเพลงคฤหัสถ์โดย ใส่เนื้อเป็นเรื่องศาสนาและเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ด้วย เพลงในสมัยนี้เริ่มมีอัตราจังหวะแน่นอน เพลงคฤหัสถ์มีการพัฒนาทั้งใช้ผู้ร้องและการบรรเลง กล่าวได้ว่าดนตรีในศตวรรษนี้มีรูปแบบ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นและหลักการต่าง ๆ มีแบบแผนมากขึ้น 

                ในสมัยนี้มนุษย์เริ่มเห็นความสำคัญของดนตรีมาก โดยถือว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต นอกจากจะให้ดนตรีในศาสนาสืบเนื่องมาจากสมัยกลาง (Middle Ages) แล้วยังต้องการดนตรีของคฤหัสถ์ (Secular Music) เพื่อพักผ่อนในยามว่าง เพราะฉะนั้นในสมัยนี้ดนตรีของคฤหัสถ์ (Secular Music) และดนตรีศาสนา (Sacred Music) มีความสำคัญเท่ากัน

สรุปลักษณะบทเพลงในสมัยนี้

1. บทร้องใช้โพลีโฟนี (Polyphony) ส่วนใหญ่ใช้ 3-4 แนว ในศตวรรษที่ 16 ได้ชื่อว่า “The Golden Age of Polyphony” 
2. มีการพัฒนา Rhythm ในแบบ Duple time และ Triple time ขึ้น 
3. การประสานเสียงใช้คู่ 3 ตลอด และเป็นสมัยสุดท้ายที่มีรูปแบบของขับร้องและบรรเลงเหมือนกัน

เครื่องดนตรีสมัยรีเนซองส์

                - เครื่องดนตรีในสมัยนี้ที่นิยมใช้กันได้แก่ เครื่องสายที่บรรเลงด้วยการใช้คันชัก ได้แก่ ซอวิโอล (Viols) ขนาดต่าง ๆ ซอรีเบค (Rebec) ซึ่งตัวซอมีทรวดทรงคล้ายลูกแพร์เป็นเครื่องสายที่ใช้คันชัก ลูท เวอร์จินัล คลาวิคอร์ด ขลุ่ยรีคอร์เดอร์ ปี่ชอม ปี่คอร์เน็ต แตรทรัมเปต และแตรทรอมโบนโบราณ เป็นต้น

ประวัติผู้ประพันธ์เพลง

1. ดันสเตเบิล (John Dunstable, ประมาณ 1390 –1453) 
                ผู้ประพันธ์เพลงชาวอังกฤษ ซึ่งนอกจากมีชื่อเสียงเรื่องการประพันธ์เพลงแล้ว ยังเป็นนักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ อีกด้วย เป็นผู้ทำให้วงการดนตรีรู้จักและยกย่องดนตรีของชาวอังกฤษ ชีวิตส่วนใหญ่ของดันสเตเบิลไปอยู่ในฝรั่งเศส โดยการไปรับใช้ดยุคแห่งเบดฟอร์ด ผลงานการประพันธ์ของ ดันสเตเบิลไม่ว่าจะเป็นเพลงร้อง เพลงแมสและโมเต็ตล้วนได้รับการยกย่องในเขตยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี 1420-1430 รูปแบบดนตรีของเขามีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการดนตรี เขาคงความมีชื่อเสียงได้จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1453 ผู้ประพันธ์เพลงที่รับเอาอิทธิพลของดันสเตเบิลไว้ ได้แก่ แบงชัวส์ และดูเฟย์ และผู้ประพันธ์คนอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มผู้ประพันธ์เพลงเบอกันดี (Burgandy) ดันสเตเบิลใช้รูปแบบการประสานเสียงที่ดนตรีมาตรฐานนิยมใช้ ไม่ว่าจะเป็นในสมัยคลาสสิก โรแมนติก หรือเพลงสมัยนิยม ในขณะที่ดนตรีในสมัยนั้นโดยทั่ว ๆ ไปไม่นิยมการประสานเสียงในลักษณะนี้เลย จึงกล่าวได้ว่าดันสเตเบิลเป็นบิดาของดนตรีสมัยใหม่ (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535:143)

2. ดูเฟย์(Guillianum Dufay ประมาณ 1400-1474) 
                ผู้ประพันธ์เพลงชาวเนเธอร์แลนด์ดูเฟย์เป็นหนึ่ง ในจำนวนนักแต่งเพลงที่มีความสามารถ สูงในสมัยนี้เป็นหนึ่งของผู้ที่ริเริ่ม ดนตรีในสมัยรีเนซองส์ เมื่อมาโชท์สิ้นชีวิตลงในปี 1377 ดนตรีของฝรั่งเศสขาดผู้นำไป จนกระทั่งถึงดูเฟย์ซึ่งนับว่าเป็นผู้ประพันธ์ที่เป็นผู้นำทั้งในฝรั่งเศส และยุโรป ดูเฟย์ทำงานทางด้านดนตรี ทั้งในอิตาลีและฝรั่งเศส ผลงานของดูเฟย์มีประกอบด้วยเพลงคฤหัสถ์และเพลงโบสถ์ โดยในระยะแรกดูเฟย์ ประพันธ์เพลงคฤหัสถ์ เช่น ชังซอง ในระยะต่อมาดูเฟย์ให้ความสนใจกับเพลงโบสถ์มาก และเบนแนวประพันธ์มาสู่เพลงโบสถ์ ผลงานของดูเฟย์ที่มีชื่อเสียงคือ เพลงแมส ซึ่งประพันธ์ไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีเพลงโมเต็ต ซึ่งจัดเป็นเพลงที่ดูเฟย์พัฒนารูปแบบไว้และผู้ประพันธ์เพลงรุ่น ต่อมานำไปใช้ ในบรรดาลูกศิษย์ของดูเฟย์มีผู้หนึ่งที่มีชื่อเสียงใน วงการดนตรีมาก คือ โอคิกัม 

3. โอคิกัม (Johannes Ockeghem, ประมาณ 1410-1497) 
                ผู้ประพันธ์เพลงชาวเนเธอร์แลนด์ ลูกศิษย์ของดูเฟย์ ผู้ซึ่งรับเอาแนวคิดของดูเฟย์มา และนำเอาหลักการ และความคิดของตนใส่เข้าไป ทำให้ดนตรีของโอคิกัมมีเสน่ห์ชวนฟัง ทั้งนี้ เนื่องจากดูเฟย์มีแนวการประพันธ์เพลงแมส ที่ขาดความอบอุ่นในอารมณ์ของมนุษย์ ในขณะที่เพลงของโอคิกัมเน้นที่การแสดงออกของอารมณ์ และความรู้สึกของมนุษย์ทำ ให้ได้รับฉายาว่า “เจ้าชายแห่งดนตรี” (The Prince of music) โอคีกัมพัฒนารูปแบบ ของการสอดประสานทำนองโดยเน้นการล้อกันของแนวเสียงแต่ละแนว (Imitative style) ซึ่งเป็นต้นแบบของฟิวก์อันเป็นรูปแบบท ี่สำคัญในสมัยบาโรก ซึ่งบาคใช้เสมอเมื่อประมาณ 200 ปีต่อมา 
                ผลงานของโอคีกัมประกอบไปด้วยแมส 14 บท (เสร็จสมบูรณ์ 11 บท) เรควิเอียม 1 บท โมเต็ต 10 บท และชังซอง 20 บท กล่าวได้ว่าผลงานของโอคีกัม ส่วนใหญ่เป็นเพลงโบสถ์ทั้งสิ้น

4. จอสกิน เดอส์ เพรซ์ (Josquin des Prez, ประมาณ 1440 -1521) 
                ผู้ประพันธ์เพลงชาวเนเธอร์แลนด์ผู้ที่ทำงานให้สันตะปาปา ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และย้ายมารับใช้เจ้านายในราชสำนักฝรั่งเศส เป็นผู้ที่มีแนวการแต่งเพลงที่ละเอียดอ่อน และเป็นผู้นำการแต่งเพลงประสาน เสียงซึ่งทำให้ผู้ฟังเห็นถึงความสดใส และความมีพลังของการขับร้อง แนวทางที่เขาใช้นี้รู้จักในนามของ Musica reservata ซึ่งเป็นภาษาละตินมีความหมายถึงดนตรีสำหรับผู้ที่เข้าถึงโดยเฉพาะ ผลงานของจอสกินได้รับการยกย่อง ว่าเป็นสัญลักษณ์ของดนตรีในสมัยรีเนซองส์ในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่จอสกินได้รับ การยกย่องตลอดมา แม้กระทั่งเมื่อเขาสิ้นชีวิตไปแล้วผลงาน ของเขายังมีการนำมาตีพิมพ์ใหม่ในศตวรรษที่ 17 และได้รับการกล่าวยกย่องจาก นักประวัติศาสตร์ดนตรีชาวอังกฤษ คือ เซอร์จอห์น ฮอว์กินส์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 อีกด้วย กล่าวได้ว่า จอสกิน เดอส์ เพรซ์ คือ ผู้ประพันธ์เพลงที่ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง ในสมัยรีเนซองส์ มีผลงานดีเด่น ในลักษณะเพลงโบสถ์เช่นเดียวกับผู้ประพันธ์คนอื่น ๆ ในสมัยนั้น

5. โทมัส ทัลลิส (Thomas Tallis) 
                เกิดปี ค.ศ 1505 เสียชีวิต 23 พฤศจิกายน 1585 เป็นนักออร์แกนและเป็นนักแต่งเพลงชาวอังกฤษเป็นเพื่อนกับ เบิร์ด (William Byrd) เขาเป็นนักออร์แกนของ Dover Priory ในปี 1532 แต่ย้ายไปกรุงลอนดอน (Saint Mary-at-Hill) ต่อจากนั้นไปที่ Waltham Abbey หลังจากการเสียชีวิตของ ทัลลิส เขาได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งศาสตร์หลาย ๆ ศาสตร์ไม่ใช่เพียงดนตรีเท่านั้น” (Tallis was indeed a master,not of one but of many styles)

6. ปาเลสตรินา (Giovanni Pierluigi da Palestrina, ประมาณ 1524-1594) 

                ผู้ประพันธ์เพลงชาวอิตาเลียนซึ่งใช้ชื่อเมืองเกิดเป็นชื่อเรียกแทนชื่อจริง ๆ ปาเลสตรินาใช้เวลาส่วนใหญ่รับใช้สันตะปาปาปอลที่ 4 ในช่วงระยะเวลานี้เขาได้สร้างสรรค์งานประเภทเพลงโบสถ์ ประกอบไปด้วยเพลงแมส 105 บท โมเต็ต และเพลงโบสถ์ลักษณะอื่น ๆ ซึ่งจัดเป็นเพลงที่มีรูปแบบ ของการสอดประสานทำนองที่มีคุณค่ามากที่สุด 
ส่วนหนึ่งในโลกของ ดนตรีสมัยรีเนซองส์ โดยเฉพาะแมสบทหนึ่งที่มีชื่อว่า Missa Papae Marcelli (Mass for Pope Marcellus) ที่มีความบริสุทธิ์สวยงามชวน ให้ผู้ฟังนึกถึงสวรรค์นอกจากเพลง โบสถ์เขาประพันธ์เพลงคฤหัสถ์ได้ เป็นจำนวนมากเช่นกัน ได้แก่เพลงมาดริกาล 4 เล่ม สำหรับการร้อง 4 และ 5 แนว และเพลงสำหรับการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีอีก 8 บท ซึ่งเพลงต่าง ๆ ล้วนจัดว่าเป็นเพลงในระดับคุณภาพทั้งสิ้น มีน้อยเพลงที่ไม่ถึงระดับคุณภาพนอกเหนือไปจากการเป็นผู้ประพันธ์เพลง ที่โด่งดัง เขายังเป็นนักร้องประสานเสียงในโบสถ์  และหัวหน้านักร้องประสานเสียงประจำโบสถ์

7. เบิร์ด (William Byrd, 1543-1623) 
                ผู้ประพันธ์เพลงและนักออร์แกนชาวอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยนั้น เบิร์ดได้รับอิทธิพล และสไตล์ในการแต่งเพลง โดยมีลักษณะเฉพาะของอังกฤษมาจากครูของเขาคือ Thomas Tallis ขณะที่อายุเพียง 20 ปี เบิร์ดมีช่วงชีวิตอยู่ ในสมัยของการขัดแย้งทางศาสนาคริสต์จน ในที่สุดอังกฤษได้จัดตั้งนิกายใหม่ขึ้นมาคือ The Church of England แม้ว่าเบิร์ดเป็นชาวแคธอลิคเขาประพันธ์เพลงโบสถ์ทั้งนิกายแคธอลิคและแองกลิกัน นอกจากเพลงโบสถ์ เขาประพันธ์เพลงคฤหัสถ์ประเภทต่าง ๆ ไว้มากมายเช่น มาดริกาลเพลงสำหรับคีย์บอร์ดและอื่น ๆ
ผลงานของเบิร์ดไม่ว่าจะเป็นเพลงโบสถ์หรือเพลงคฤหัสถ์ล้วน เป็นบทเพลงที่มีคุณค่าทั้งสิ้น เบิร์ดและเพื่อนคือ โธมัส ทาลิสได้รับพระบรมราชานุญาตจาก พระราชินีอลิซาเบธที่หนึ่งให้จัดพิมพ์โน้ตดนตรีแต่ผู้เดียว ในสมัยนั้น

8. มอนแทแวร์ดี (Claudio Monteverdi, 1567-1643) 
                ผู้ประพันธ์เพลงชาวอิตาเลียน ซึ่งรับใช้ทั้งในราชสำนัก และในวัดหลายแห่งตลอดชีวิตของเขา เป็นผู้ที่เริ่มดนตรีสมัยใหม่โดยโจมตีแนวคิดเก่า ๆ ในขณะนั้นเกี่ยวกับแนวการแต่งเพลง ที่ใช้ดนตรีเน้นบทร้องให้เด่นขึ้นมาซึ่งเรียกว่า Word painting โดยกล่าวว่าดนตรีควรใช้ใน การแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก และเนื้อหาของเพลงมากกว่าคำแต่ละคำในบทร้อง นอกจากนี้ยังวิจารณ์การใช้โครงสร้างของ การสอดประสานทำนอง ซึ่งเป็นหลักที่ใช้กันทั่วไป โดยหันมาให้ความสำคัญกับการร้องแนวเดียวไม่มีการสอดประสาน (Monody) เขาฝากผลงานไว้มากมายทั้งเพลงโบสถ์ และเพลงคฤหัสถ์ส่วนใหญ ่ของผลงานเพลงโบสถ์ใช้รูปแบบ การประพันธ์แบบ การร้องเพลงของสองกลุ่มนักร้อง (Antiphonal Style) มีทั้งเพลงแมส และเพลงประเภทอื่น ๆ เช่น เพลงมาดริกาลที่มีบทร้องเป็นเรื่องศาสนา สิ่งหนึ่งที่เขาสร้างสรรค์ไว้และถือเป็นจุดเริ่มต้นของดนตรีในรูปแบบนี้คือ โอเปร่า ไม่ว่าจะเป็นการร้องเดี่ยวการร้องประสาน เสียงและดนตรีที่บรรเลงล้วน นำไปสู่อารมณ์ความรู้สึกซึ่งทำให้โอเปร่าของเขา เป็นผลงานที่ควรแก่การยกย่อง และแนวคิดในเรื่องการบรรเลงดนตรีประกอบ โอเปร่านี้เองจัดได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้น ประวัติศาสตร์ของวงออร์เคสตรา โอเปร่าส่วนใหญ่ของมอนเทแวร์ดีสูญหายไปหมด คงเหลืออยู่เพียง 3 เรื่อง ได้แก่ Orfeo ,2 Ritorno of Ulisse in Patria (The Return of Ulysses) และ L' Incoronazione  of Poppea (The Coronation of Popea) กล่าวได้ว่าเขามีแนวคิดใน การประพันธ์เพลงแบบโรแมนติกดังที่เขากล่าวไว้ว่า ดนตรีควรอยู่บนรากฐานของธรรมชาติ ในความเป็นมนุษย์กล่าว คือดนตรีควรใช้ในการแสดงออกถึงความรักอย่างเต็มรูปแบบ ความเศร้าซึมจนถึงความโกรธ หรือความสุขสันต์จนถึงความผิดหวัง

 

http://student.nu.ac.th/pick_ed/lesson4.htm

    << Go Back