หริภุญไชย นครแห่งศิลปวัฒนธรรม
ที่มาของภาพ : http://www.highlightthailand.com/th/main/detail_content/
Hariphunchai-%E2%80%93-The-City-of-Arts-and-Culture/39.html
พอเอ่ยถึงชื่อ จังหวัดลำพูน คนทั่วไปมักเข้าใจว่าลำพูนเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆอยู่ใกล้กับจังหวัดเชียงใหม่ มีพระธาตุหริภุญชัยเป็นของคู่บ้านคู่เมือง และมีชื่อเสียงในการผลิตสินค้าหัตถกรรมที่ต้องใช้ฝีมือ เช่น ผ้าไหมทอยกดอก ผ้าฝ้ายทอมือ การถักและปักผ้าเท่านั้น น้อยคนนักจะทราบว่าเมืองลำพูนเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดภาคเหนือ ที่มีร่องรอยและหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ณ บ้านวังไฮ อายุประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปี และครั้งหนึ่งเคยเป็นนครที่สำคัญที่สุดในกลุ่มเมืองเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง อันตั้งอยู่ ณ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังแห่งอาณาจักรสมันตประเทศ หรือพิงครัฐ มาแล้ว
ตามตำนานจาม เทวีวงศ์กล่าวว่า พระฤาษีวาสุเทพ ได้สร้างเมืองหริภุญชัยขึ้น ณ บริเวณพื้นที่ระหว่างแม่น้ำ ๒ สาย คือ แม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง จากนั้น ได้อัญเชิญพระนางจามเทวี พระธิดา พระยาจักรัตติแห่งกรุงละโว้ขึ้นมาครอบครองนครแห่งนี้ พระนางได้นำนักปราชญ์ราชบัณฑิต และพระภิกษุสงฆ์ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมจากเมืองละโว้ขึ้นมาด้วย เมืองหริภุญไชยในยุคนั้นจึงเป็นเมืองใหญ่ มั่นคง เป็นปึกแผ่น มีความเจริญทางด้านสังคม ศาสนา และศิลปะวิทยาการ สาขาต่าง ๆ ที่ได้พัฒนารูปแบบจนมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองงดงามลงตัวที่สุด
หลักฐานที่เป็นพยานยืนยันในเรื่องนี้ ก็คือ หลักศิลาจารึก และโบราณสถานหลายแห่งในตัวเมืองและบริเวณใกล้เคียง เช่น พระสุวรรณเจดีย์ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ วัดจามเทวี และพระสุวรรณเจดีย์ วัดเชียงยืน รวมทั้งโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน
โบราณวัตถุที่พบในจังหวัดลำพูนโดยทั่วไปจะมีทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหริภุญไชย และสมัยล้านนา
โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้พบจากการขุดคนทางโบราณคดีที่บ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองฯ ซึ่งเป็นการค้นพบโดยบังเอิญจากการขุดบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้านเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ และนำมาซึ่งการขุดค้นทางวิชาการ ระหว่างนักโบราณคดีไทยและฝรั่งเศสในเวลาต่อมา สิ่งที่พบอยู่ร่วมกับโครงกระดุก ได้แก่ ภาชนะดินเผาเนื้อหยาบลายเชือกทาบขนาดใหญ่ ลูกปัดแก้วแบบทวารวดี เศษภาชนะดินเผาหริภุญไชย กำไลสำริด ต่างหูแก้ว กำไลแก้ว เครื่องมือหิน เครื่องมือเหล็ก อายุระหว่าง ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว สำหรับโบราณวัตถุสมัยหริภุญไชยที่ได้พบส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปสกุลช่างหริ ภุญไชย เป็นพระพุทธรูปร่วมสมัยกับศิลปะศรีวิชัยทางภาคใต้ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ แต่ได้พัฒนามาเป็นศิลปะของตนเองได้งดงามที่สุด แบ่งออกได้เป็น ๒ สมัย คือ ประติมากรรมที่สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ มีลักษณะพระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม พระขนงเหยียดตรงจดกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกโต พระโอษฐ์แบะ ในระยะหลังพระพักตร์จะเรียวยาว พระขนงตวัดปลายเป็นรูปวงโค้ง และสมัยที่สองคือ ประติมากรรมที่สร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙ ได้แก่ เศียรพระพุทธขนาดใหญ่ทำด้วยศิลาแลง พระพุทธรูปทำด้วยดินเผาจากแม่พิมพ์ และเศียรพระพุทธรูปดินเผาทำจากแม่พิมพ์ ลักษณะที่เด่นชัดของสมัยนี้ก็คือพระพักตร์สั้น พระศกเป็นเม็ดเล็ก ๆ พระขนงเป็นรูปปีกกาติดต่อกัน พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระนาสิกเล็ก พระโอษฐ์บาง ไม่มีไรพระมัสสุ ส่วนประกอบของใบหน้าไม่หนาเทอะทะทำให้พระพักตร์ดูอ่อนนุ่ม พระเกตุมาลาเป็นกรวยแหลมเรียบ ๆ นอกจากนี้ยังได้พบเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองฯ และบ้านศรีย้อย ตำบลคันธง อำเภอเมืองฯ ด้วย
หลังจากที่พระยายีบาเสียอำนาจการปกครองให้ แก่พ่อขุนมังรายมหาราช เมืองหริภุญไชยจึงได้รวมอยู่ในอาณาจักรล้านนาไทยตั้งแต่นั้นมา และได้เป็นศูนย์กลางทางศาสนาและวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนาระหว่างพุทธศตวรรษ ที่ ๑๖-๑๘ สถาปัตยกรรมศิลปะล้านนาที่เด่นที่สุดคือหอไตร ทั้งที่เป็นเครื่องไม้ทั้งหลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้และเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง เช่น หอไตรวัดสันกำแพง อำเภอป่าซาง หอไตรวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมือง ฯ และหอไตรวัดหนองเงือก อำเภอป่าซาง
ส่วนประติมากรรมซึ่งเป็นสิลปะล้านนานั้น มีศูนย์กลางของวัฒนธรรมและศาสนาอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยฯ ซึ่งพระมหากษัตริย์ล้านนาเกือบทุกพระองค์ทรงให้ความอุปถัมภ์โบราณวัตถุส่วน ใหญ่จะเป็นพระพุทธรูป สามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ แบบ คือ แบบระยะเริ่มแรกของศิลปะล้านนาที่ยังคงลักษณะศิลปะหริภุญไชยไว้ เช่น พระขนงเป็นรูปปีกกา พระพักตร์เหลี่ยม มีขอบไรพระเกศา เม็ดพระศกเล็กแหลม การแสดงกล้ามเนื้อและรูปทรงใบหน้าเป็นแบบธรรมชาติของมนุษย์ แบบแสดงถึงความสมบูรณ์ของศิลปะล้านนาที่มีการเลือกลักษณะที่ต้องตามรสนิยม ของตนในศิลปะร่วมจากภายนอก คือศิลปะสุโขทัยและศิลปะอยุธยา ผสมผสานกับสุนทรียภาพของล้านนาเอง แบบแสดงลักษณะประจำท้องถิ่นที่ได้รับอิทธิพลพระพุทธรูปล้านนาและสุโขทัย มีพระรัศมีเป็นเปลวสูง พระนาสิกแหลมโค้ง พระกรรณโค้งออก เม็ดพระศกแหลม และนิ้วพระหัตถ์เสมอกัน และแบบล้านนาฟื้นฟูศิลปกรรม สร้างขึ้นร่วมสมัยกับศิลปะรัตนโกสินทร์ แสดงถึงการผสมผสานกันของศิลปะไทยแบบต่าง ๆ มีการสร้างพระพุทธรูปและสิ่งของถวายพระ ซึ่งทำจากวัสดุที่มีค่าและฝีมือประนีต เช่น ช้างจำลอง ม้าจำลอง และเครื่องไม้แกะสลักต่าง ๆ ผู้สนใจสามารถหาชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูนตั้งอยู่ที่ถนนอินทยงยศ ตำบลในเมือง จังหวัดลำพูน ตรงข้ามกับวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒
ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ จัดแสดงห้องศิลาจารึก ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๒๓ หลัก มีทั้งศิลาจารึกสมัยหริภุญไชยและศิลาจารึกสมัยล้านนา ห้องจัดแสดงใหญ่ ประกอบด้วยโบราณวัตถุสมัยก่อนหริภุญไชย
สมัยหริภุญไชย และสมัยล้านนา ห้องจัดแสดงศิลปะพื้นบ้านและเครื่องไม้จำหลัก ซึ่งมีทั้งสมัยล้านนาและสมัยรัตนโกสินทร์ เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและเครื่องไม้จำหลักที่เป็นส่วนประกอบ หรือส่วนประดับของอาคาร เช่น ทวย หำยนต์ เป็นต้น
http://www.highlightthailand.com/th/main/detail_content/Hariphunchai-%E2%80%93-The-City-of-Arts-and-Culture/39.html
|