<< Go Back

โอวาท 3


ที่มาของภาพ : http://chainarong99.blogspot.com/2013/02/blog-post_21.html

หลักธรรม โอวาท ๓
       - ไม่ทำชั่ว การไม่ทำชั่วทุกอย่างเป็นโอวาทข้อที่ ๑ ใน ๓ ข้อ เป็นคำสอนที่สำคัญของพระพุทธเจ้า ที่นักเรียนควรนำไป
          ปฏิบัติ ซึ่งหมายถึง เบญจศีล
       - เบญจศีล คือ ศีล ๕ ข้อ ที่นักเรียนควรรักษาเป็นประจำทุกวัน คือ
       ๑. ไม่ทำร้ายสัตว์ ไม่รังแกสัตว์
       ๒. ไม่ลักขโมย
       ๓. ไม่แย่งชิงของรักของผู้อื่น
       ๔. ไม่พูดปดหรือพูดโกหกหลอกลวง
       ๕. ไม่ดื่มสุราหรือของมึนเมาและสิ่งเสพติดทุกประเภท
ศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ
        ถ้าปฏิบัติได้จะมีความสุข มีคนรัก คนชอบ อยากคบหาเป็นเพื่อนเสมอ
        ทำความดี การทำความดีเป็นโอวาทข้อที่ ๒ ใน ๓ ข้อ เป็นคำสอนที่สำคัญของพระพุทธเจ้าที่ควรนำไปปฏิบัติ ซึ่งหมายถึง เบญจธรรมและหลักธรรมอื่น ๆ
เบญจธรรม คือ ข้อควรปฏิบัติ ๕ ประการ คือ
       ๑. ความเมตตากรุณา
       ๒. การประกอบอาชีพสุจริต
       ๓. ความสำรวมในกาม พอใจ และยินดีในของของตน
       ๔. มีความซื่อสัตย์ ซื่อตรง และจริงใจ
       ๕. รู้สึกตัวอยู่เสมอมีสติสัมปชัญญะ
เบญจธรรมเป็นข้อควรปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในตัวของเราการทำความดีนอกจากเบญจธรรม ๕ ข้อแล้วยังมีหลักธรรมข้ออื่น ๆ อีก เช่น
       - สังคหวัตถุ ๔ คือ ธรรมสำหรับยึดเหนี่ยวน้ำใจ ผูกมิตรไมตรีต่อกันผู้นำไปใช้เป็นประจำจะสามารถครองใจคนได้ และเป็นที่รักของคนทั่วไปมี ๔ ประการ คือ
       ๑. ทาน คือ การให้ การแบ่งปัน การเสียสละของตนแก่ผู้อื่น ผู้ที่ให้ย่อมได้รับความรัก ความนับถือ ความยกย่องจากผู้อื่นเสมอ
       ๒. ปิยวาจา คือ การพูดจาสุภาพ หรือการพูดคำที่ไพเราะอ่อนหวานและคำที่มีประโยชน์แก่ผู้ฟัง
       ๓. อัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์ นักเรียนต้องทำตนให้เป็นประโยชน์ เช่น ช่วยล้างจาน ปัดกวาด เช็ดถูบ้าน เก็บขยะ
            บริเวณโรงเรียน
       ๔. สมานัตตตา คือ รู้จักทำตัวให้เหมาะสม ทำตัวน่ารัก พูดคุยเป็นกันเองกับเพื่อน ๆ ทำงานร่วมกันได้ เมื่อพบผู้ใหญ่หรือคน
            รู้จักทักทายทำความเคารพทุกครั้งผู้ที่มีหลักธรรมข้อสังคหวัตถุอยู่ในจิตใจผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของบุคคลทั่วไป
       - กตัญญูต่อพ่อแม่และครอบครัว คือ การรู้ว่าใครมีบุญคุณต่อเราบ้าง มีบุญคุณอย่างไร เรียกว่า กตัญญู เมื่อรู้บุญคุณท่านและตอบแทนพระคุณท่าน เรียกว่า กตเวที
       - ผู้เป็นลูกต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณต่อลูก เช่น ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูก ด้วยความรักความห่วงใย ดูแลลูกเมื่อยามลูกเจ็บป่วย อบรมสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี ให้ลูกเรียนหนังสือเมื่อถึงเวลาอันควร
       - กตัญญูต่อพ่อแม่ ลูกทุกคนควรแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ด้วยการปฏิบัติ ดังนี้ เคารพเชื่อฟังท่าน ตั้งใจเรียนหนังสือ ช่วยทำงานบ้านและรับใช้ท่านเมื่อมีโอกาส
       - กตัญญูต่อครอบครัว ในบ้านของเรา นอกจากมีพ่อแม่แล้ว ยังมี ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง ซึ่งเราเรียกว่า คนในครอบครัว ครอบครัวจะมีความสงบสุขได้ ก็เพราะพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน สามัคคีกัน ช่วยเหลือแบ่งปันของกินของใช้กัน ปฏิบัติกันในสิ่งที่ถูกต้อง และปกป้องอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น
มงคล
       - มงคล หมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญมงคลมีทั้งหมด ๓๘ ข้อ มงคลที่เราควรรู้จัก คือ ทำตัวดี หมายถึง การตั้งใจมั่นในการสร้างความดี เช่น รู้จักให้ทาน เชื่อฟังผู้ใหญ่ ตั้งใจเล่าเรียน ซื่อสัตย์สุจริต และมีความขยันหมั่นเพียร รู้จักฝึกสมาธิ เพื่อให้ใจผ่องใสรู้จักพึ่งตนเอง
       - ว่าง่าย หมายถึง การเคารพเชื่อฟัง พ่อแม่ ครู อาจารย์ ไม่ดื้อรั้น ไม่เถียงพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย ไม่โกรธเมื่อถูกตักเตือน ยอมรับฟังการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ ผู้ว่านอนสอนง่ายจะได้รับความรักความเมตตาจากพ่อแม่ ครู อาจารย์ และญาติผู้ใหญ่เสมอ
       - รับใช้พ่อแม่ หมายถึง พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณต่อลูก เลี้ยงลูกด้วยความรัก ความห่วงใย ลูกควรแสดงความกตัญญูต่อท่านด้วยการดูแลท่านและคอยรับใช้ท่าน
       - การทำจิตให้บริสุทธิ์
         การทำจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากความชั่ว เป็นโอวาทข้อที่ ๓ ใน ๓ ข้อ เป็นคำสั่งสอนที่สำคัญของพระพุทธเจ้าที่นักเรียนควรนำไปปฏิบัติ
         ทำจิตให้บริสุทธิ์ คือ ฝึกจิตให้ผ่องใส ไม่คิดในทางชั่ว เช่น ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น ไม่อยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่นมาเป็นของตนเองฝึกทำสมาธิ เพื่อให้มีจิตที่ผ่องใสบริสุทธิ์

http://chainarong99.blogspot.com/2013/02/blog-post_21.html

<< Go Back