<< Go Back

ปัญญา
         ปัญญา แปลว่า ความรู้ทั่ว คือรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน, รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ, รู้สิ่งที่ควรทำควรเว้น เป็นต้น เป็นธรรมที่คอยกำกับศรัทธา เพื่อให้เชื่อประกอบด้วยเหตุผล ไม่ให้หลงเชื่ออย่างงมงาย
         ปัญญา ทำให้เกิดได้ 3 วิธี คือ
      1. โดยการสดับตรับฟัง การศึกษาเล่าเรียน (สุตมยปัญญา)
      2. โดยการคิดค้น การตรึกตรอง (จินตามยปัญญา)
      3. โดยการอบรมจิต การเจริญภาวนา (ภาวนามยปัญญา)
         ปัญญา ที่เป็นระดับ อธิปัญญา คือปัญญาอย่างสูง จัดเป็นสิกขาข้อหนึ่งใน สิกขา 3 หรือ ไตรสิกขา คือ อธิศีล อธิสมาธิ อธิปัญญา
ปัญญา ๓ พระอาจารย์ทูล ขิปปปญโญ วัดป่าบ้านค้อ ต. เขือน้ำ อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี
        ปัญญา ๓ : สุตมยปัญญา
        สุตมยปัญญาเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ การเริ่มต้นในภาคการศึกษา การอ่านตำรา การฟังเทป การฟังธรรม การซักถามข้อข้องใจ จึงเรียกว่าภาคการศึกษา หรือเห็นสิ่งใด ๆ ในที่ทั่วไป ให้ศึกษาเหตุผลสิ่งนั้น ๆ ความถูกเป็นอย่างไร มีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น ถ้าฝึกในวิธีนี้ได้ เราจะมีธรรมะ ได้ศึกษาในที่ทั่วไป สิ่งใดควรนำมาปฏิบัติได้ก็จดจำนำมาปฏิบัติต่อไป สิ่งใดไร้เหตุผลอย่างไรก็ศึกษาให้รู้ว่า เราจะไม่ทำไม่พูดในลักษณะอย่างนั้น แม้ในตำราต่าง ๆ ที่ได้ศึกษามาก็อย่าเพิ่งเชื่อทีเดียว ใช้ปัญญาพิจารณาตีความหมาย ใช้เหตุผลมาเป็นตัวตัดสินให้รู้จักความผิดความถูกแล้วจึงตัดสินใจเชื่อในภายหลัง จึงจะเกิดเป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะเป็นผลออกมาเป็นปฏิเวธ แนวทางปฏิบัติอย่างไรจะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าทรงวางกฎเกณฑ์ไว้แล้วเป็นอย่างดี ถึงจะผ่านกาลเวลามายาวนานก็เป็นหลักความจริงตลอดมาไม่ล้าสมัย ยังมีประสิทธิภาพให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติตลอดมา การปฏิบัติได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับสติปัญญาและความสมารถของแต่ละท่าน หากมีความสงสัยในการปฏิบัติอย่างไร ก็ให้ศึกษากับท่านผู้รู้ผู้เข้าใจในธรรมอยู่เสมอ เพื่อให้เป็นไปในความถูกต้องชอบธรรม การปฏิบัติก็จะก้าวหน้าไปด้วยดี
        ปัญญา ๓ : จินตามยปัญญา
        จินตามยปัญญา เป็นคู่กับปฏิบัติ การปฏิบัติมี ๒ วิธี
        ๑. ปฏิบัติที่เป็นไปในขั้น กามาวจร
        ๒. ปฏิบัติให้เป็นไปใน โยคาวจร
        ทั้งสองวิธีนี้มีอุบายในการปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างไร เราปฏิบัติอยู่ในขณะนี้เป็นระดับขั้นกามาวจรหรือเป็นขั้นโยคาวจร จะรู้วิธีในการปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป
        ๑. ปฏิบัติในขั้นกามาวจร เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างบารมี ที่เรียกว่า การบำเพ็ญกุศล ไม่หวังมรรคผลนิพพานในชาตินี้แต่อย่างใด ทำไปเพื่อให้เกิดความสุขภายในใจเท่านั้น เช่น การทำบุญให้ทาน การรักษาศีล การเจริญเมตตาภาวนา การทำสมาธิ การทำสมาธิทุกคนก็พอจะเข้าใจเพราะทำกันอยู่แล้ว ทำเพื่อความสุขสบายในใจไปชั่วคราวเท่านั้น ถึงจะทำสมาธิให้จิตมีความสงบลึกลงไปเป็นฌาน รูปฌาน อรูปฌาน อยู่ก็ตาม ก็จะได้ไปเกิดในภพของรูปพรหม อรูปพรหม เท่านั้น เมื่ออำนาจฌานเสื่อมลองก็จะได้มาเกิดในโลกนี้ต่อไป เว้นพระพรหมในพระอนาคามีเท่านั้น นอกนั้น จะต้องลงมาเกิดภายในภพทั้งสามต่อไป
        ๒. ปฏิบัติในขั้นโยคาวจร เป็นอุบายการปฏิบัติเพื่อจะพ้นไปจากภพทั้งสามในชาตินี้ให้ได้ จะไปได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความตั้งใจจะให้พ้นไปได้ในชาตินี้จริง ๆ การปฏิบัติในขั้นโยคาวจรใช้สติปัญญาเป็นหลักที่ยืนตัว การทำสมาธิก็เพื่อเป็นอุบายเสริมให้แก่สติปัญญาเท่านั้น การทำสมาธิก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ให้ทำเหมือนที่ได้ทำตามปกติทั่ว ๆ ไป ข้อสำคัญ อย่าให้มีความอยากในสิ่งใด ๆ อย่าหวังผลว่าให้เป็นอย่างนั้น ให้รู้อย่างนี้ การนึกคำบริกรรมก็เอาตามที่เรามีความถนัด หรือกำหนดสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออกก็ได้ เมื่อจิตเป็นสมาธิตั้งใจมั่นได้แล้ว ให้สังเกตดูจิตตัวเองว่าจิตมีความต้องการที่จะสงบต่อไป หรือต้องการพิจารณาในสิ่งต่าง ๆ ถ้าจิตต้องการความสงบก็ปล่อยให้ลงสู่ความสงบอย่างเต็มที่ ในช่วงจิตมีความสงบอยู่นั้น อย่าไปบังคับให้จิตได้ถอน ปล่อยให้จิตอยู่ในความสงบจนอิ่มตัว เมื่อจิตอิ่มตัวในความสงบแล้วก็จะเริ่มถอนออกมาเอง ในขณะที่จิตถอนอย่าให้ถอนเร็ว ให้มีสติกำหนดรู้เอาไว้ไม่ให้ถอนออกหมด ให้อยู่ในขณิกะ อุปจารสมาธิ ในความตั้งใจมั่น จากนั้น ก็น้อมใจพิจารณาในหมวดธรรมต่าง ๆ ต่อไป เหมือนกับนอนหลับแล้วตื่นขึ้น อย่าให้ตื่นพรวดพราดลืมตาเลยทีเดียว ให้มีสติหลับตาเอาไว้ ถ้าหากมีความฝันอย่างไรจะได้เรียบเรียงดูความฝันนั้นได้ นี้ฉันใด เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิก็ให้เป็นในลักษณะฉันนั้น


http://th.wikipedia.org/wiki/ปัญญา

<< Go Back