คำอุทาน
คำอุทาน คือ คำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้พูด เช่น ดีใจ เสียใจ ตกใจ แปลกใจ สงสัย สงสาร เจ็บปวด โกรธ เป็นต้น คำอุทานมักจะอยู่หน้าประโยคและมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) กำกับหลังคำอุทานนั้นเสมอ คำอุทานนั้นจะช่วยสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงเจตนาและความรู้สึกของผู้ส่งสารได้ชัดเจนขึ้น ดังนี้
ชะ, ชะชะ, ชิ, ชิชะ, ชิชิ คำที่เปล่งออกมาเมื่อรู้สึกโกรธหรือไม่ชอบใจ เช่น ชะชะ ! แม่คนนี้มาทำอวดดี เดี๋ยวตีตายเลย
ไชโย คำที่เปล่งออกมาด้วยความดีหรืออำนวยพร เช่น ไชโย ! เราชนะแล้ว
โธ่, พุทโธ่ คำที่เปล่งออกมาด้วยความสงสารหรือรำคาญ เช่น โธ่ ! น่าสงสารจัง ไม่น่าเป็นอย่างนี้เลย
ว้าย คำที่เปล่งออกมาแสดงอาการตกใจหรือดีใจ เช่น ว้าย ! งูเข้าบ้าน
วุ้ย คำที่เปล่งออกมาเมื่อรู้สึกตกใจ เก้อเขิน หรือไม่พอใจ เช่น วุ้ย ! น่ารำคาญ
หน็อยแน่ คำที่เปล่งออกมาเมื่อไม่พอใจหรือผิดหวัง เช่น หน็อยแน่ ! ทำผิดแล้วยังจะอวดดีอีก
อนิจจา คำที่เปล่งออกมาแสดงความสงสารสังเวช เช่น อนิจจา ! ไม่น่าเลย ช่างน่าสงสารเสียจริง ๆ
อ้อ, อ๋อ คำที่เปล่งออกมาแสดงว่ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว นึกได้แล้ว เช่น อ๋อ ! เรื่องนี้ฉันนึกออกแล้ว
อ้าว คำที่เปล่งออกมาเมื่อรู้สึกว่าไม่ตรงกับที่มุ่งหมายหรือคาดไว้ เช่น อ้าว ! แม่ก็มาด้วยนึกว่ามาแต่พ่อ
อี๊ คำที่เปล่งออกมาแสดงอาการรังเกียจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น อี๊ ! เสื้อสกปรกอย่างนี้ ยังจะเอามาให้ฉันอีก
อือ คำที่เปล่งออกมาเป็นการตอบรับหรือรับรู้ เช่น อือ ! เรื่องนั้นฉันรู้แล้ว
อื้อฮือ คำที่เปล่งออกมาแสดงความแปลกใจ เช่น อื้อฮือ ! มากจริง ๆ เลย
บ๊ะ, อุบ๊ะ คำที่เปล่งออกมาแสดงความไม่พอใจหรือประหลาดใจ เช่น อุบ๊ะ ! ข้าบอกเอ็งแล้วว่าอย่าทำ แต่เอ็งก็ไม่เชื่อ
อุ๊ย คำที่เปล่งออกมาแสดงอาการตกใจ มักเป็นเสียงผู้หญิง เช่น อุ๊ย ! จักจี้นะ
เอ, เอ๊ คำที่เปล่งออกมาแสดงความแปลกใจสงสัย เอ๊ ! ปากกาฉันอยู่ที่ไหนนะ
เอ๊ย คำที่เปล่งออกมาแสดงอาการว่าพูดผิดไป เช่น เอ๊ย ! ไม่ใช่อย่างนั้นฉันพูดผิดไป
เอ๊ว คำที่เปล่งออกมาเพื่อเยาะให้เก้อ เช่น เอ๊ว ! คนอะไรช่างหน้าไม่อาย
เออ คำที่เปล่งออกมาเพื่อบอกรับหรืออนุญาต เช่น เออ ! จริงของเธอนั่นแหละ
เอ้อเฮอ คำที่เปล่งออกมาแสดงความพิศวงหรือประหลาดใจ เช่น เอ้อเฮอ ! วันนี้เธอแต่งตัวสวยจริง ๆ
เอ๊ะ คำที่เปล่งออกมาแสดงความฉงนไม่เข้าใจหรือไม่พอใจ เช่น เอ๊ะ ! ใครมากันเยอะแยะเลย (ฉงน) เอ๊ะ ! ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ได้นะ (ไม่เข้าใจ) เอ๊ะ ! บอกว่าอย่าทำไม่เชื่อหรือไง (ไม่พอใจ)
โอ๋ คำที่เปล่งออกมาเป็นเสียงเช่นนั้นเพื่อหลอกเด็ก เช่น โอ๋ ! อย่าร้องไห้ไปเลยลูก
โอย, โอ๊ย คำที่เปล่งออกมาแสดงความรู้สึกเจ็บปวด หรือรู้สึกว่ามากยิ่งหรือแปลก เช่น โอ๊ย ! เจ็บจริง ๆ ฉันทนไม่ไหวแล้ว (รู้สึกเจ็บปวด) โอ๊ย ! มากจังเลย เธอเอาไปบ้างซิ (รู้สึกว่ามากยิ่ง) โอ๊ย ! อย่างนี้ฉันไม่เคยเห็น (รู้สึกแปลก)
โอ้โฮ คำที่เปล่งออกมาแสดงความตกใจหรือประหลาดใจ เช่น โอ้โฮ ! วันนี้เธอมาเรียนแต่เช้าเลย
ฮิ คำที่เปล่งออกมาแสดงความไม่พอใจหรือแปลกใจ เช่น ฮิ ! ใครบอกเธอ ฉันไม่เคยพูดอย่างนั้น
ฮึ่ม คำที่เปล่งออกมาแสดงความไม่พอใจ โดยปริยายหมายถึงแสดงอาการขู่ เช่น ฮึ่ม ! อย่าให้เป็นทีเราบ้างก็แล้วกัน
ฮึย, ฮึย ๆ เสียงร้องไล่หรือกระตุ้นเพื่อเร่งวัวควายให้เดินหรือวิ่ง เช่น ตาคำไล่ควายเสียงฮึย ๆ !
ฮื้อ คำที่เปล่งออกมาแสดงความสำคัญหรือไม่พอใจ เช่น ฮื้อ ! เรียกอยู่นั่นเอง น่ารำคาญจัง
เฮ่ย คำที่เปล่งออกมาแสดงความขัดแย้งไม่เห็นด้วยหรือเห็นว่าไม่สำคัญ เช่น เฮ่ย ! เรื่องนี้เราไม่เห็นด้วยที่เธอจะนำไปพูดนะ
เฮ้ย คำที่เปล่งออกมาเพื่อให้รู้ตัวหรือให้ยั้ง เช่น เฮ้ย ! ตื่นเสียทีซิสายมากแล้วนะ
เฮ้ว คำที่เปล่งออกมาเพื่อเยาะให้เก้อ เช่น เฮ้ว ! ช่างน่าไม่อาย
เฮอ คำที่เปล่งออกมาแสดงความโล่งใจ เช่น เฮอ ! ถึงฝั่งเสียที ดีแล้วที่ไม่มีใครเป็นไร
เฮ่อ คำที่เปล่งออกมาแสดงความดูแคลนหรือไม่เชื่อถือ เช่น เฮ่อ ! ตัวเล็กแค่นี้จะสู้เขาได้หรือ
เฮ้อ คำที่เปล่งออกมาแสดงความเบื่อหน่ายหรือไม่ถูกใจ เช่น เฮ้อ ! ผมละเบื่อเหลือเกิน พูดไปก็เท่านั้น
ไฮ้ คำที่เปล่งออกมาแสดงความประหลาดใจหรือเพื่อห้ามปรามขัดขวาง เช่น ไฮ้ ! ไปไม่ได้นะ
เว็บไซต์ : http://www.baanjomyut.com/library_3/extension-4/interjection/index.html
|