<< Go Back

ความหมายของประโยค

         ประโยค หมายถึง ถ้อยคําหลายคําที่นํามาเรียงกันแล้วเกิดใจความสมบูรณ์  ซึ่งประกอบไปด้วย ภาคประธาน และภาคแสดง ใช้ติดต่อสื่อสารกันได้ทั้งทางภาษาเขียน หรือภาษาพูด แต่การใช้ภาษาพูด ในสถานการณ์ต่าง ๆ กัน อาจละเว้นส่วนหนึ่งส่วนใดได้ในฐานที่เข้าใจกันระหว่างผู้พูด และผู้ฟัง

ประโยคความเดียว (เอกรรถประโยค)

          ประโยคความเดียว (เอกรรถประโยค)  หมายถึง ประโยคที่กล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว และสิ่งนั้นแสดงกริยาอาการ หรืออยู่ในสภาพอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ประโยคประกอบด้วย ภาคประธาน และภาคแสดง เช่น

ภาคประธาน ภาคแสดง
นก บินไปหากิน
แมว ร้องดังเหมียวเหมียว
เรือ แล่นไปช้า ๆ

          รูปประโยคความเดียว แบ่งได้เป็น ๔ แบบ ดังนี้

                    ๑.๑ ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยผู้กระทํา  เช่น แม่ทํากับข้าว   ยายป้อนข้าวน้อง

                    ๑.๒ ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยผู้ถูกกระทํา  เช่น  กระดาษถูกครูตัด  ต้นไม้ถูกปลูกหลายต้น

                    ๑.๓ ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยกริยา  เช่น  เกิดเหตุการณ์จลาจลที่ต่างประเทศ  ฝนตกหนักที่นนทบุรี

                    ๑.๔ ประโยคเชิงคําสั่งและขอร้อง  เช่น  อย่าเดินลัดสนาม (คําสั่ง)  กรุณาเดินชิดด้านใน (ขอร้อง)

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งรูปแบบของประโยคความเดียว  ตามลักษณะการสื่อสาร ได้แก่ 

          ประโยคบอกเล่า โดยมากประกอบด้วย ประธาน กริยา กรรม และอาจมีส่วนขยายต่าง ๆ เพื่อให้มีใจความชัดเจนยิ่งขึ้น
                   เช่น  ครูกําลังสอนหนังสือนักเรียนชั้น ป.๒  ฉันเดินไปตลาดนัดคนเดียว

          ประโยคปฏิเสธ โดยมากมักมีคําว่า ไม่ มิใช่ หามิได้  ประกอบตัวแสดง
                   เช่น  เขาไม่ได้มาหาฉันนานแล้ว  ผมไม่สนใจศิลปินเกาหลี  คุณมิได้อ่านคําแนะนําก่อนใช้ยา

          ประโยคคําสั่งและขอร้อง โดยมากจะละประธานไว้ในฐานที่เข้าใจ มีเฉพาะแต่แสดง
                   เช่น  โปรดฟังทางนี้  ยกของขึ้นเดี๋ยวนี้  กรุณาอย่าเดินลัดสนาม

          ประโยคคําถาม โดยมากจะมีคําถามกํากับอยู่ต้นหรือท้ายประโยค
                   เช่น  มดชอบกินอะไร  เธอเรียนอยู่ชั้นไหน  หนูเป็นลูกของใคร

ประโยคความรวม (อเนกรรถประโยค)

          ประโยคความรวม (อเนกรรถประโยค)  หมายถึง  ประโยคที่รวมประโยคความเดียวตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไป โดยมีคําสันธาน เช่น และ แต่ หรือ ก็เป็นตัวเชื่อม ประโยคความรวมมี ๔ ชนิด  ได้แก่

          ๒.๑ ประโยคความรวมแบบคล้อยตาม จะมีเนื้อหาคล้อยตามกัน
                 เช่น  พนักงานดับไฟสงบแล้วจึงเข้าไปตรวจในพื้นที่  ครั้นถูกครูดุแล้วเขาจึงตั้งใจเรียน

          ๒.๒ ประโยคความรวมแบบขัดแย้ง จะมีเนื้อความขัดแย้งกัน
                 เช่น  กว่าเขาจะสํานึกได้ก็สายไปเสียแล้ว  เธอเป็นคนปากหวานแต่ก็ไม่จริงใจ

          ๒.๓ ประโยคความรวมแบบเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีเนื้อความขัดแย้งกัน
                 เช่น  ไม่เขาก็เธอต้องออกไปพูดหน้าห้อง  คุณต้องการดื่มชาหรือกาแฟ

ประโยคความซ้อน (สังกรประโยค)

          ประโยคความซ้อน (สังกรประโยค) ความประโยคความซ้อน คือ ประโยคที่มีใจความหลักประโยคหนึ่ง แล้วมีประโยคย่อยอีกประโยคหนึ่งซ้อนอยู่ ซึ่งประโยคย่อยนั้นอาจทําหน้าที่เป็นคํานาม ขยายนาม หรือสรรพนาม หรือขยายกริยา หรือวิเศษณ์  ประโยคความซ้อนมี ๓ ชนิด ได้แก่

          ๓.๑ นามานุประโยค คือ ประโยคย่อยที่ทําหน้าที่แทนนาม ซึ่งนามนั้นอาจทําหน้าที่เป็น ประธาน กรรม หรือส่วนเติมเต็มในประโยคก็ได้ 
                 เช่น   - คนเห็นแก่ตัวเป็นคนที่สังคมรังเกียจ
                          - ผมชอบมองนกนางนวลบินโฉบไปมา
                          - นักเรียนที่สอบได้ที่ ๑ ให้ออกมารับรางวัล
                          - ท่านพุทธทาสภิกขุสอนว่าสิ่งทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

          ๓.๒ คุณานุประโยค คือ ประโยคย่อยที่ทําหน้าที่ขยายนามหรือสรรพนาม โดยมีประพันธสรรพนาม ที่ ซึ่ง อัน ผู้  เป็นตัวเชื่อม        
                 เช่น   - ฉันได้รับรางวัลที่ราคาไม่แพงแต่มากด้วยคุณค่าทางจิตใจ
                          - เราพึงระวังความเสียงต่างๆ อันจะนําไปสู่โรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่
                          - เธอเป็นคนเหนือผู็ซึ่งอยากไปทํางานในภาคใต้

          ๓.๓ วิเศษณานุประโยค คือ ประโยคย่อยที่ทําหน้าที่ขยายกริยา หรือวิเศษณ์  โดยมีคําประพันธวิเศษณ์  เช่น  อย่างที่ เมื่อ เพื่อ เพราะ ตาม จน ตั้งแต่ เป็นตัวเชื่อม
                 เช่น   - เธอออกกําลังกายทุกวันเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
                          - นักวิ่งเป็นลมเมื่อวิ่งมาถึงเส้นชัย
                          - รถติดในกรุงเทพฯ เพราะมีรถมากกว่าถนน
                          - เขาเขียนหนังสือตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตก


          เว็บไซต์  :  http://www.st.ac.th/bhatips/webthai/sarathai_p12.pdf

<< Go Back